11.11 จากวันคนโสดจีน สู่ วันช้อปปิ้งระดับโลก

รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว วันที่ 11 เดือน 11 มีที่มา มาจาก “วันคนโสดจีน”


วันที่ 1 ก็เหมือนกับการยืนคนเดียว พอ 1 กับ 1 ก็เหมือนกับการยืนคนเดียวไม่ได้กลายเป็น 2 พอเลข 11.11 ที่เรียงกัน 4 ตัว จึงดูเหมือนคนโสดยืนเรียงกัน 4 คน คนจีนเลยเรียกวันที่ 11 เดือน 11 ว่าวันคนโสด


วันคนโสด เป็นเทศกาลที่คนจีนนิยมฉลองชีวิตโสดด้วยการช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าต่างๆ ฉลองให้สุดๆ ไปเลย จนปี 2009 ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นคนคิดค้นวันช้อปปิ้งคนโสดจีน 11.11 อย่างเป็นทางการคือ “แดเนียล จาง” ประธานและซีอีโอของ Alibaba ในปัจจุบัน


จากจุดเริ่มต้นของการทำ 11.11 ใน Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ในยุคนั้น โดยเทศกาลลดราคากระหน่ำในวันช้อปปิ้งคนโสดจีนทำให้ Tmall ทำยอดขายในวันเดียวได้ถึง 52 ล้านหยวน มากกว่าที่เคยทำในช่วงเวลาปกติ 10 เท่า


ส่วนในปัจจุบันเรียกได้ว่า 11.11 ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทุกแพลตฟอร์มของ Alibaba สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง


ความสำเร็จของวันช้อปปิ้งคนโสดจีนถูกผลิตซ้ำต่อมาจนกลายเป็นธรรมเนียมและพอจะเรียกได้ว่าเป็น “วัฒนธรรม” เพราะในปัจจุบันแพร่กระจายอยู่หลายที่ทั่วโลก อย่างในประเทศไทยเองก็เช่นกัน


แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับไปควบคู่กันคือ “วัฒนธรรม 11.11 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ (new standard) ให้กับการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคอย่างปฏิเสธไม่ได้”


เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การเสนอลดราคาเพื่อส่งเสริมการขายของค้าปลีกในยุคนี้ ไม่ได้มีแค่ 11.11 เท่านั้น แต่ยังมี 8.8, 9.9, 10.10 และอีกมากมาย


เรียกได้ว่าใน 1 ปี ถ้าเห็นตัวเลขของ “วัน” ตรงกับ “เดือน” เมื่อไหร่ ให้เดาไว้เลยว่าจะมีการลดราคาสินค้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


แต่ถึงกระนั้น สำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ “โค้ด” และ “โปรโมชั่น” ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในโลก เพราะ “ของ/สินค้า” ถ้ามันราคาถูกอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าซื้อมาแล้วจะใช้ประโยชน์อะไร ก็ไร้ประโยชน์อยู่ดี


และที่มากไปกว่านั้น ในห้วงขณะที่ 2 รายใหญ่ (อย่างน้อยก็ในบ้านเราอย่าง Lazada vs.Shopee) ยังดำเนินต่อไป ผลประโยชน์ย่อมตกที่ผู้บริโภคอย่างเรา แต่ถ้าในอนาคตเหลือผู้เล่นเพียงรายเดียว วันนั้นน่าจะเป็นวันที่ผู้บริโภคอาจจะเจ็บตัว เพราะไม่มีใครเอาใจแล้ว


ไม่รู้ว่าวันนั้นในอนาคตจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่ผู้บริโภคไม่ควรสูญเสียความต้องการที่แท้จริงของตัวเองไป เพียงเพราะหลงอยู่ในภวังค์ของ “สงครามหั่นราคา”